ไทยเป็นอารยะประเทศที่มีศิลปวัฒนธรรมด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และทัศนศิลป์สืบทอดปรากฏเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นมาเป็นเวลาช้านาน มีการอนุรักษ์ พัฒนา สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยสำนึกในคุณค่าที่ว่า การรักษาศิลปวัฒนธรรมไทย คือการดูแลรักษาความ เป็นชาติไทย โดยพระดำริ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ที่ทรงห่วงใยองค์ความรู้ของครู อาจารย์ และศิลปินอาวุโสด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และทัศนศิลป์ ซึ่งนับวันจะมีอายุมากและปัญหาด้านสุขภาพ ทำให้ไม่สามารถถ่ายทอดความรู้ได้ จึงทรงแนะให้หาวิธีที่จะรักษาภูมิปัญญาเหล่านี้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา และสืบทอดไว้เป็นสมบัติอันล้ำค่า มิให้สูญหายไปกับกาลเวลา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ร่วมกับ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และมูลนิธิศาลาเฉลิมกรุง ได้ดำเนินการจัดตั้ง “ศูนย์รักษ์ศิลป์” ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 โดยเริ่มดำเนินการรวบรวมสื่อด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และทัศนศิลป์ทั้งที่เป็นวัตถุ เอกสาร สิ่งพิมพ์ วีดีทัศน์ และสื่อเทคโนโลยีรูปแบบต่างๆ มารวมจัดเป็นหมวดหมู่ 3 ด้านประกอบด้วย องค์ความรู้ด้านนาฏศิลป์ ด้านดุริยางคศิลป์ และด้านทัศนศิลป์ ปัจจุบันแนวคิดผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาการติดต่อสื่อสาร การแลกเปลี่ยนความรู้ การประสานความร่วมมือ ส่งผลให้การดำเนินงานของศูนย์รักษ์ศิลป์ต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการอนุรักษ์ สืบสาน สร้างสรรค์ และการเผยแพร่ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาการจัดเก็บการรวบรวมข้อมูลการสรรค์สร้างนวัตกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมและการเผยแพร่องค์ความรู้ ตลอดจนการประสานการถ่ายโอน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ตามวัตถุประสงค์กับองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ศูนย์รักษ์ศิลป์มีความพร้อมสำหรับการให้บริการการสืบค้นแก่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ศูนย์รักษ์ศิลป์
สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
5 ธันวาคม 2562